การจัดหมรับ

การจัดหมรับ




   หัวใจของการทำบุญเดือนสิบ คือการจัดสำหมรับ (หมรับ หรือ สำรับ) เป็นการเตรียมอาหารคาวหวานบรรจุภาชนะไปถวายพระอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษล่วงลับไปแล้ว วันยกหมรับตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เป็นวันที่ลูกหลานร่วมกันแบกหามหมรับที่จัดเตรียมเรียบร้อยแล้วไปถวายพระที่วัด โดนรวมกลุ่มกันในคนบ้านใกล้เรือนเคียง บางทีก็จัดเป็นขบวนแห่เพื่อความคึกคักสนุกสนานสุดท้ายคือวันหมรับใหญ่ในวันแรม 15 ค่ำ ญาติโยม จะนำอาหารไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัดครั้งใหญ่ อุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ มีการตั้งเปรตอุทิศส่วนกุศลให้วิญญาณที่ไม่มีลูกหลานมาทำบุญให้พร้อมทำพิธีฉลองสมโภชหมรับที่ยกมา สำหรับการจัดหมรับส่วนใหญ่จะใช้ของแห้งที่เก็บไว้ได้นานวิธีจัดจะใส่ข้าวสารรองชั้นล่างในภาชนะ ตามด้วยเครื่องปรุงพวกของแห้ง ที่ใช้ในครัวชั้นถัดมา เป็นพวกอาหารแห้ง ยา หมากพลู และของใช้ประจำวัน
   ส่วนหัวใจของหมรับที่เป็นเอกลักษณ์ขาดไม่ได้มี 5 อย่าง คือขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมดีซำ และขนมกง (หรือขนมไข่ปลา)





  • ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนเรือแพที่บรรพบุรุษใช้ข้ามห้วงมหรรณพ 
  • ขนมลา เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องนุ่งห่ม ใช้เป็นเสื้อผ้าอาภรณ์
  • ขนมบ้า เป็นสัญลักษณ์แทนลูกสะบ้า ใช้เป็นอุปกรณ์การละเล่นแทนสะบ้า เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน
  • ขนมดีซำ เป็นสัญลักษณ์แทนเงินเบี้ย ใช้แทนเงินจับจ่ายใช้สอย
  • ขนมกง เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ เพราะมีรูปทรงคล้ายกำไลแหวน 
   ขนมเหล่านี้มีความหมายหรือคตินิยมในการทำบุญสารทเดือนสิบ ซึ่งจะขาดเสียมิได้เพื่อให้บรรพบุรุษและผู้ล่วงลับไปแล้วได้นำไปใช้ประโยชน์ตามคติความเชื่อ

   เมื่อเสร็จจากการฉลองหมรับและถวายภัตตาหารแล้วก็จะแบ่งขนมดังกล่าวรวมทั้งข้าวปลาอาหารส่วนหนึ่งนำไปวางไว้ที่กำแพงวัด ลานวัด หรือโคนไม้  เรียกว่าตั้งเปรตเป็นการแผ่ส่วนกุศลให้เป็นสาธารณะทานแก่ผู้ที่ล่วงลับที่ไม่มีญาติหรือที่ญาติไม่ได้มาร่วมทำบุญส่งไปให้ และเมื่อแล้วเสร็จชาวบ้านก็จะมาแย่งขนมที่ตั้งเปรตไว้เหล่านั้น จึงเรียกว่า ชิงเปรต

   ปัจจุบันได้มีการพัฒนาการจัดทำหมรับไปจากแบบดั้งเดิมซึ่งเป็นแบบเรียบง่าย มาเป็นการตกแต่งให้มีความสวยงามมากขึ้น ได้มีการตกแต่งอย่างประณีตบรรจง แต่มีข้อสังเกตว่าชาวนครมักจัดหมรับเป็นรูปทรงพระมหาธาตุเจดีย์ ซึ่งไม่ค่อยพบเห็นในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ จึงสันนิษฐานว่าพระมหาธาตุเจดีย์เปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจของชาวนคร และเป็นบุญกุศลยิ่งหากบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วจะได้รับบุญกุศลอันหลักศรัทธาของชาวนคร นอกจากนี้ยังมีการประกวดหมรับ ประกวดขบวนแห่หมรับ ตามเส้นทางถนนราชดำเนินและมีการแสดงแสงเสียงมีการจัดงานกาชาดและประเพณีบุญสารทเดือนสิบที่ทุ่งท่าลาดสนามหน้าเมือง และที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร มีการประชันหนังตะลุง มโนราห์ภาคใต้ การประกวดสาวงามของชาวนครศรีธรรมราช เป็นต้น


ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม